อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ททท.)
หน้า ร้อนใคร ๆ ก็ไปทะเล แต่ก็ยังมีใคร ๆ อีกกลุ่มหนึ่งบ่ายหน้าเข้าหาแนวป่าและลำธาร ที่เหลือปริมาณน้ำเพียงน้อยนิด เพื่อสัมผัสกับบรรยากาศแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าทะเลที่ไหนก็ให้ไม่ได้ เพราะมันคือการยืนอยู่ในวงล้อม ที่เต็มไปด้วยสารพัดสีสันด้วยฝีมือของฝูงแมลง ที่มีสีสวยที่สุดในโลก ไกลออกไปในทิวเขาสลับซับซ้อนของผืนป่าดิบยอดด้ามขวาน
ชุมชนเมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางแนวโอบล้อมของผืนป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ และชุกชุมไปด้วยสรรพสัตว์นานา ที่ย่างกรายออกมาให้มนุษย์ได้เห็นเป็นระยะ ๆ แม้จะมองไม่เห็นอนาคตศิวิไลซ์ใด ๆ ในทิวเขาเหล่านั้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์นานาชนิดและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
นอกจากจะทำให้ที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยสัตว์ป่าหลากชนิดให้เห็น และที่ดูจะเป็นชื่อเสียงที่สุดของที่นี่ก็คือ มันเป็นแหล่งที่มี "ริ้บบิ้นป่า" หรือ หลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ และมันกลายเป็นตัวเรียกแขกที่สำคัญในบรรยากาศแห่งฤดูร้อน "ผีเสื้อ""แก่งกระจาน" จึงเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุด สำหรับการดูผีเสื้ออีกอย่างหนึ่งไปโดยปริยาย
ทิวทัศน์เหนืออ่างเก็บน้ำยามเย็นของ แก่งกระจาน เมื่อมองออกไปจากหลังอาคารที่ ทำการอุทยานฯ พื้นที่เปิดโล่งนี้ ถูกปูลาดด้วยสนามหญ้าเขียวขจี พร้อมกับมีป้ายไม้ขนาดใหญ่ เพื่อบอกความเป็นอุทยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งสนามหญ้าบริเวณนี่ในช่วงฤดูหนาว จะคราคร่ำไปด้วยเต๊นท์และผู้คนจนแน่นไปหมด บรรยากาศตรงบริเวณที่ทำการอุทยานฯ นั้น นับว่าน่าสนใจเพราะทิวทัศน์จากสนามหญ้าริมอ่างเก็บน้ำ ด้านหลังอาคารนั้น เปิดไกลแทบสุดตา จะปูเสื่อนั่งรับลมหรือปิคนิคกับครอบครัวส่งตะวันลับยอดเขา หรือจะใช้เป็นโลเกชั่นเพื่อการถ่ายภาพก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน
เลยจากที่ทำการฯ มาไม่ไกล ก็จะเป็นสถานีวิจัยพันธุ์ปลาของเขื่อนฯ ที่นี่มีสะพานสลิงทอดยาว เชื่อมจากแผ่นดินไปยังเกาะที่ห่างออกไปเกือบสองร้อยเมตร ประสบการณ์เดินเล่นรับลมเหนือน้ำนั้นอย่าบอกใคร แถมด้านล่างยังมีปลาน้ำจืดตัวโตขนาดเด็กแรกเกิด ผุดขึ้นมาฮุบอาหารให้ชมเป็นขวัญตา เท่านี้ก็เพลินได้เป็นชั่วโมงเช่นกัน
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แบ่งออกเป็นจุดหรือช่วงใหญ่ ๆ ได้ 3 จุด นั่นก็คือ บริเวณตัวที่ทำการอุทยานฯ, แค้มป์บ้านกร่าง และเขาพะเนินทุ่ง สองจุดแรกจะเดินทางไม่ลำบากจนเกินไปนัก แต่จุดสุดท้ายซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของการชมทัศนียภาพทะเลหมอก จะเดินทางค่อนข้างลำบาก เพราะเส้นทางลูกรังที่ลื่นชัน รวมทั้งแคบจนรถวิ่งสวนกันไม่ได้ (บางช่วงก็เป็นหน้าผาด้วย) ซึ่งในฤดูฝนคงจะอันตรายเกินไปกว่าจะปล่อยให้มีการสัญจรตามปกติ ทางอุทยานฯ จึงปิดงดเยี่ยมชมเขาพะเนินทุ่งในช่วงฤดูฝนของทุกปี จะสามารถขึ้นไปถึงได้เฉพาะบริเวณ "แค้มป์บ้านกร่าง" เท่านั้น
แก่งกระจาน ยังมีชื่อเสียงในฐานะเป็นแหล่งดูนก ที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยอีกด้วย ไม่มีนักดูนกคนไหนที่ไม่รู้จัก แก่งกระจาน อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมายังที่นี่สักครั้งเพื่อเฝ้าดูนกสายพันธุ์ แปลก ๆ และหายาก บางสายพันธุ์ก็มีเฉพาะที่ แก่งกระจาน แห่งนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ส่วน "ผีเสื้อ" ของที่นี่จะมีแนวคิดต่างจากที่ "ปางสีดา" อยู่สักหน่อย เพราะทันทีที่เราขยับตัวแม้เพียงน้อยนิด พวกมันก็จะแตกฝูงฮือขึ้นไปในอากาศ ทำให้การถ่ายภาพผีเสื้อของที่นี่ไม่ง่ายเลย จังหวะไหนโชคดีที่มันยังคงดูดกินเกลือแร่อย่างเมามันส์ จังหวะนั้นก็จะได้ยินเสียงชัตเตอร์ดังรัวเป็นข้าวตอกแตก ทั้งจากคณะและจากกลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ
ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ใช่ช่วงพีค แต่จำนวนของมันเท่าที่เราพบเจอนั้นก็น่าประทับใจไม่ใช่เล่น ยามที่มันบินขึ้นสู่อากาศในเวลาเดียวกัน มันจะบินแตกแยกย่อยออกมาราวกับแมลงเม่าที่เจอหลอดไฟเลยทีเดียว นี่คือบรรยากาศอีกแบบหนึ่งเมื่อได้อยู่ท่ามกลางฝูงผีเสื้อนับหมื่น อันจะหาจากในตัวเมืองที่ไหนไม่ได้ และเพียงแค่นี้ก็ดูเหมือนว่าทั้งเงินค่าเดินทางและเวลาที่ ใช้ไปมันช่างคุ้มค่าแก่การลงทุน บางท่านที่เราได้เจอนั้นถึงกับเดินทางมาที่ แก่งกระจาน ทุกเสาร์-อาทิตย์ เรียกว่าวันหยุดปุ๊บ! เป็นต้องออกมา แก่งกระจาน ทุกที
สำหรับคนที่คิดจะมาถ่ายภาพผีเสื้อ ต้องห้ามพลาดช่วงสายเด็ดขาด เพราะจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของวัน ที่ผีเสื้อจะพร้อมใจกันออกมาโบยบินอย่างร่าเริง บางส่วนก็ลงจับกลุ่มดูดกินโป่งอย่างเมามันส์ ครั้นพอเที่ยงและบ่ายซึ่งแสงแดดเริ่มร้อนแรง ผีเสื้อเหล่านั้นก็เริ่มหลบร้อนเข้าใต้ใบไม้ตามป่าเหมือนเดิม ถึงแม้จะพอมีเหลือให้เห็นบ้างแต่ก็ไม่เยอะเท่าช่วงสาย และหลังจากบ่ายไปแล้วก็อาจจะกลับออกมาหากินอีกครั้ง แต่อาจจะน้อยกว่าช่วงสายเพราะผีเสื้อขี้เกียจก็เห็นจะมีอยู่ไม่น้อย และที่จับคู่กันได้แล้วก็จะไม่โผล่ออกมาอีกเลย
ผีเสื้อที่ แก่งกระจาน จะ ทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงกลางเดือนเมษายน หลากสายพันธุ์หลายสีจะพากันออกมาบินฉวัดเฉวียนทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณริมลำธารซึ่งมีแร่ธาตุต่าง ๆ ปนมากับน้ำมากมายให้ผีเสื้อได้ใช้เป็นอาหาร ก่อนจะจับคู่เพื่อผสมพันธุ์กันต่อไป
ที่มา:http://travel.kapook.com/view25011.html
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น